วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

โลกไอที2011"ปีกระต่ายสวย"

โลกเศรษฐกิจอาจจะมองว่าปี 2011 คือปีกระต่ายไฟที่คนทั่วโลกยังนิ่งนอนใจและประมาทไม่ได้ แต่สำหรับโลกไอที ปี 2011 คือปี"กระต่ายสวย"ที่สินค้าไอทีใหม่ถอดด้ามจะไม่ได้กระจุกตัวในกลุ่ม"เนิร์ดไอที"อย่างเดิม แต่จะกระจายตัวอยู่ในกลุ่มใครก็ได้ที่เน้นแฟชั่น หลงเสน่ห์ความสะดวกสบายของเทคโนโลยี และความสวยงามของอุปกรณ์

"ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช" รองผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายนิวมีเดีย บริษัท เอ.อาร์.อินฟอร์เมชัน แอนด์ พับลิเคชัน จำกัด (ARiP) ผู้จัดงานมหกรรมไอที "คอมมาร์ต (Commart)" ในประเทศไทย ประเมินสถานการณ์ปี 2011 ว่าจะเป็นปี"ลูกผสม"ระหว่างสินค้าไอทียุคเก่าและใหม่ เพื่อการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยุคดิจิตอลเต็มรูปแบบในอนาคต

"สินค้าใหม่ออกมาจะไม่ได้อยู่ที่เนิร์ด แต่อยู่ที่ทุกคน สินค้าใหม่ออกมาจะเห็นดาราและเซเลบถือ" ประสิทธิ์กล่าว "สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือการเป็นยุคลูกผสม Hybrid & Transform อธิบายให้ง่ายคือโลกไอทีก็คล้ายกับการเปลี่ยนอาหารให้สุนัข ถ้าเปลี่ยนยี่ห้ออาหารเลย สุนัขจะท้องเสีย ต้องเอายี่ห้อเก่ามาผสมยี่ห้อใหม่ ก่อนที่จะค่อยๆลดยี่ห้อเก่าลงจนเหลือเฉพาะยี่ห้อใหม่"

ประสิทธิ์เชื่อว่า วิถีชีวิตของชาวออนไลน์ในปี 2011 จะเปลี่ยนไปใน 8 ทิศทาง โดยชีวิตคนไอทีจะอยู่กับฮาร์ดแวร์หลากหลาย แพลตฟอร์มจำนวนมากจะทำให้คำว่าคอมพิวเตอร์เจือจางไป และผู้บริโภคจะรู้จักคำว่า"สมาร์ท"แทน

เหนืออื่นใด การประเมินสถานการณ์ในภาพรวมทำให้ประสิทธิ์เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนมือแชมป์ ยืนยันคำพูดที่ว่าไม่มีใครสามารถเป็นอันดับหนึ่งได้ถาวรตลอดกาล

1. คนจะใช้สองอุปกรณ์แทนพีซี

"ปี 2010 และปี 2011 คำถามว่าควรซื้อโน้ตบุ๊กหรือแท็บเล็ตจะถูกพูดถึงมากขึ้น มีแนวโน้มว่าสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะกลายเป็นพีซีเครื่องต่อไปสำหรับกลุ่มที่ไม่ต้องพิมพ์งานมาก ใช้เพื่อดูมากกว่า"

ประสิทธิ์เชื่อว่าผู้บริโภคจะเลือกอุปกรณ์ 2 ชิ้นนี้เพื่อใช้ทำงานแทนพีซีพกพา โดยมองว่าปัจจุบัน แท็บเล็ตนั้นทำงานได้แทบทุกอย่างในอุปกรณ์เดียว ขณะที่สมาร์ทโฟนก็กำลังจะมีพัฒนาการเป็นชิปดูอัลคอร์ และเพิ่มความเร็วระดับ GHz ในอนาคต

"ปี 2011 แท็บเล็ตจะกินโน้ตบุ๊ก 30% แต่โน้ตบุ๊กยังเป็นเมนสตรีมอยู่"

2. แท็บเล็ตจะกินตลาดแล็ปท็อป

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Goldman Sachs คาดว่าแท็บเล็ตโลกจะมียอดจัดส่ง 54.7 ล้านเครื่องปี 2011 โดยมีแนวโน้มว่าแท็บเล็ตจะสามารถกินส่วนแบ่งจากตลาดโน้ตบุ๊กไปได้ถึง 19.1 ล้านเครื่องในปี 2011

จุดนี้ประสิทธิ์ย้ำว่าสัดส่วนตลาดที่จะตกไปเป็นของแท็บเล็ตนั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่ เนื่องจากกลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้งานพิมพ์ก็จะยังคงใช้งานแล็ปท็อปต่อไป ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะยังชะลอตลาดไว้ ไม่ปล่อยให้แท็บเล็ตครองตลาดได้เร็วเกินไป

"ปี 2011 คิดว่ายังไม่มีเทคโนโลยีใดหายไป จะมีก็แต่เห็นน้อยลง ที่เห็นน้อยลงน่าจะเป็นเน็ตบุ๊ก แต่คาดว่าระบบปฏิบัติการกูเกิลโครมโอเอส ก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากขาลงของเน็ตบุ๊ก เพราะเทคโนโลยีคลาวด์ ส่วนตลาดโน็ตบุ๊กก็ยังโต เช่นในกลุ่มคนเล่นเกม คิดว่าตลาดแท็บเล็ตจะถูกแตะเบรกโดยเวนเดอร์เอง ใช้วิธีซื้อแล้วไม่มีสินค้า หรือซื้อแล้วยังไม่มีบริการหลังการขาย"

3. เน็ตบุ๊กจะไปที่คลาวด์

"เน็ตบุ๊กไม่จำเป็นต้องเร็วกว่านี้หรือฉลาดกว่านี้มากมาย เพราะกูเกิลจะทำให้คนเริ่มผ่องถ่ายข้อมูลไปที่คลาวด์ ซึ่งนาทีนี้ คลาวด์มีการพัฒนามากขึ้น เน็ตบุ๊กจึงฉลาดขึ้นตามไปโดยปริยาย"

ประสิทธิ์ชี้ว่าพัฒนาการเน็ตบุ๊กนับจากนี้จะมีลักษณะคล้ายพัฒนาการกล้องดิจิตอล ที่ต้องใช้กับชุดเลนส์และซอฟต์แวร์ และไม่ได้วัดกันที่ความละเอียดเซ็นเซอร์ภาพอย่างเดียว ดังนั้น งานบางชิ้นที่ไม่จำเป็นต้องให้เน็ตบุ๊กประมวลผล จะถูกส่งไปที่คลาวด์ เพื่อรันแอปพลิเคชันบนระบบคลาวด์โดยตรง

"ค่ายผู้ผลิตสตอเรจจะมุ่งไปที่กลุ่มองค์กรมากขึ้น เพราะกลุ่มนี้จะต้องลงทุนคลาวด์คอมพิวติงมากขึ้น ไม่ใช่กลุ่มผู้บริโภคแบบในอดีต"

คลาวด์คอมพิวติงคือระบบประมวลผลเสมือนที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ต มีความยืดหยุ่นเหมือนเมฆในแง่การขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานโดยคนกลุ่มมาก และมีเสรีในการเคลื่อนที่เพราะสามารถเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา ตัวอย่างบริการจากระบบคลาวด์ฯที่เป็นที่นิยมในขณะนี้คือบริการรับฝากและแชร์ไฟล์ออนไลน์

4. "วินโดวส์และอินเทล"จะสะเทือน

"ถ้าปี 2011 แท็บเล็ตถูกใช้มาก แชมป์ก็จะเปลี่ยนมือ"

ประสิทธิ์ยกตัวอย่างชิปเออาร์เอ็ม (ARM) โปรเซสเซอร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นชิปที่เร็วที่สุดและประหยัดพลังงานที่สุดบนอุปกรณ์โมบายล์ในขณะนี้ และกำลังถูกเอ็นวิเดียและซัมซุงนำไปใช้ในการพัฒนาชิปเพื่ออุปกรณ์พกพา จุดนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ระบบปฏิบัติการทางเลือกอย่างแอนดรอยด์และไอโอเอส (iOS) จะถูกผนวกรวมกับชิปเออาร์เอ็ม จนอาจมีอิทธิพลแทนที่แพลตฟอร์มวินโดวส์และอินเทลได้

"วันนี้อินเทลเองก็คุยกับแอนดรอยด์ สร้างสรรค์ออกมาเป็นกูเกิลทีวี" ทั้งหมดนี้ทำให้ประสิทธิ์มองว่า แพลตฟอร์มอมตะอย่างอินเทลและวินโดวส์ของไมโครซอฟท์นั้นไม่ได้ถูกเลือกใช้เป็นอันดับต้นๆอย่างเคย ทำให้ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับบัลลังก์ของอินเทลและไมโครซอฟท์ในปี 2011

5. โลกจะเข้าสู่ยุคไฮบริดมีเดีย

"อย่างที่บอกเรื่องอาหารสุนัข เทคโนโลยีในสื่อจะเปลี่ยนไปเลยไม่ได้ ปี 2011 จึงไม่ได้เป็นปีแห่งดิจิตอลแมกกาซีนเต็มตัว แต่จะเป็นปีที่ทุกคนพยายามจัดหาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และแอปสโตร ให้พร้อมที่สุด"

ประสิทธิ์คาดว่า อีบุ๊กจะกินตลาดสิ่งพิมพ์รวม 15-20% ในปี 2011

"แต่ในเมืองไทยบ้านเรา คิดว่าตัวเลขหลักเดียวก็ดีใจแล้ว คาดว่าปี 2011 สื่อไทยจะลงมาเล่นมากขึ้น" โดยแม้อีบุ๊กจะยังไม่มีกลไกเปลี่ยนหน้าหนังสือที่ดีเท่ากับหนังสือเล่ม แต่ประสิทธิ์เชื่อว่าธุรกิจสื่อจะต้องเดินทางไปสู่ตลาดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพราะทำให้ได้เงินเร็วขึ้น เนื่องจากเครื่องอ่านอีบุ๊กอย่างคินเดิลนั้นทำให้การซื้อและการอ่านเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

6. ไวรัสมือถือจะกระฉูด

ประสิทธิ์ระบุว่ายิ่งแอปพลิเคชันมือถือถูกใช้งานมากเท่าใด ไวรัสในสมาร์ทโฟนก็จะมากขึ้นเท่านั้น โดยยกตัวอย่างว่า เพียงการดาวน์โหลดภาพวอลล์เปเปอร์ในสมาร์ทโฟน ก็มีความเสี่ยงได้รับไวรัสแฝงแล้ว

ปัจจุบัน ผู้ผลิตซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสต่างเปิดตัวผลิตภัณฑ์ป้องกันไวรัสในสมาร์ทโฟนถ้วนหน้า คาดว่าในปี 2011 ตลาดซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะขยายตัวมากขึ้น

7. สมาร์ททีวีจะโต

ปี 2011 จะเป็นปีทองของสมาร์ททีวีซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สามารถชมรายการทีวีและแอปพลิเคชันบนทีวีเครื่องเดียวกันได้ ขณะเดียวกัน ตลาดทีวีสามมิติที่ไม่ใช่แว่นตาก็จะมีบทบาทในตลาดมากยิ่งขึ้น

"ปี 2010 ผู้ผลิตทีวีเริ่มเทสินค้าสามมิติมาสู่ผู้บริโภค ปี 2011 จะเป็นปีที่ผู้บริโภคต้องตัดสินใจเลือกซื้อโปรดักต์ บ้านเราต้องดูว่าบอร์ดแบนด์จะไป 12 เม็กหรือยัง (ปัจจุบันคือ 6 เม็ก) ถึงจุดนั้น ผู้ใช้สมาร์ททีวีจะโทรศัพท์ผ่านทีวีได้ โดยไม่ก็รอ 3G"

8. โซเชียลเน็ตเวิร์กจะมีผลวงกว้าง

เทรนด์ที่โดดเด่นและใกล้ตัวชาวออนไลน์มากที่สุดคือแนวโน้มการใช้งานเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิลหรือยาฮูที่น้อยลง สวนทางกับแนวโน้มการใช้งานเครือข่ายสังคมเช่นเฟซบุ๊กที่จะเพิ่มขึ้น

"เพื่อนฝูงของเราจะกลายเป็นพิกเซล คือการเห็นหน้าเพื่อนผ่านรูปในหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่น่าลุ้นในปี 2011 คือ คนจะเชื่อเพื่อนหรือเชื่ออากู๋ (กูเกิล) ตรงนี้ทำให้โซเชียลคอมเมิร์ชกำลังมา คือเพื่อคุยกับเพื่อนในเครือข่ายสังคมแล้วซื้อได้เลย"

ประสิทธิ์ระบุว่าปัจจุบัน ชาวออนไลน์มีสถิติใช้งานเครือข่ายสังคมโดยเฉลี่ย 3.5 ชั่วโมงจากทั้งหมด 5 ชั่วโมง คำถามไม่ใช่ว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ควรเป็นว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มจาก 3.5 ชั่วโมงเป็นกี่ชั่วโมงในปี 2011 เนื่องจากตลาดเครือข่ายสังคมนั้นมีแผนการพัฒนาเพื่อต่อยอดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่จะนำบริการโลเคชันเบสมาผูกกับโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อทำการตลาด ซึ่งเชื่อว่าจะมีความแพร่หลายมากขึ้นในปี 2011 เนื่องจากอุปกรณ์พกพาที่ทำให้เทคโนโลยีนี้ตามตัวผู้ใช้ไปได้ตลอดเวลามีจำนวนมากขึ้น

"ปี 2011 การใช้กลไกโซเชียลเน็ตเวิร์กในการทำให้เราฉลาดขึ้นจะมีอิทธิพลมากขึ้น เราเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า Cloud sourcing คือผู้ใช้จะสามารถถามเครือข่ายสังคมของตัวเองได้ว่าจะแต่งตัวอย่างไร ซื้อของได้ถูกที่สุดได้ที่ไหน ซึ่งอาจนำไปสู่การซื้อเป็นกลุ่มเพื่อราคาที่ถูกกว่า รวมถึงการตั้งกลุ่มผู้ชื่นชอบสิ่งของแบบเดียวกันในเครือข่ายสังคม ที่จะทำให้เกิดการต่อยอดด้านรายได้ในวงการอินเทอร์เน็ต"

สำหรับเทคโนโลยีที่ไม่ถูกพูดถึง เช่น คิวอาร์โค้ด (QR Code), วินโดวส์โฟนเซเว่น (WP7) และเทคโนโลยีเนียร์ฟิลด์คอมมูนิเคชัน (NFC) ประสิทธิ์ย้ำว่าแม้จะมีการใช้งานมากแต่ยังอยู่ช่วงให้ความรู้ผู้ใช้ ซึ่งยังต้องดูความชัดเจนต่อไป

"ดิจิตอลมันนียังไม่มา อีแบงกิงโตแต่ก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรม ต้องแรงจริงจึงจะเป็นเทรนด์ได้ ส่วน WP7 คนยังสงสัย ขณะที่แอนดรอยด์และไอโฟนสามารถจำหน่ายได้หลายแสนหลายล้านเครื่อง"

ประสิทธิ์ระบุว่าการประเมินเทรนด์ไอทีปี 2011 เป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เพราะเทคโนโลยี 3G ไม่สามารถให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2011 แต่เป็นเพราะการประเมินผู้บริโภคบนปัจจัยพฤติกรรมที่ผันแปร

"ยากเพราะต้องคิดว่าใครต้องใช้อะไรบ้าง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป และผู้ผลิตปล่อยของมาเยอะมาก มีรายงานว่าแท็บเล็ตจะถูกนำมาแสดงในงานซีอีเอสมากถึง 30 รุ่นจาก 15 เจ้า ทั้ง 8 ข้อนี้จ่อคอหอยหมดเลย ปี 2011 จะเป็นปีแห่งรอยต่ออย่างแท้จริง"

สำหรับการไม่มี 3G ประสิทธิ์เชื่อว่าจะมีผลเพียงอัตราการใช้ข้อมูลในประเทศไทยจะไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยแอปพลิเคชันที่ต้องการการเชื่อมต่อสูงจะยังไม่เกิดเท่านั้น

"โครงข่ายไม่ใช่ปัจจัย เพราะไม่มีใครหิ้วทีวีออกนอกบ้านเพื่อใช้งาน ผมคิดว่าไม่มีเทคโนโลยีอะไรหายไปในปี 2011 จะมีก็แต่ลดความนิยม ที่มากที่สุดเชื่อว่าจะเป็นเน็ตบุ๊ก และระบบปฏิบัติการซิมเบียน"
โลกไอที2011"ปีกระต่ายสวย"
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

sahasachai@gmail.com

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์