วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อาหรับจุดพลุประวัติศาสตร์ไซเบอร์ "เข้าเว็บไม่ต้องพิมพ์อังกฤษ"

อาหรับจุดพลุประวัติศาสตร์ไซเบอร์ "เข้าเว็บไม่ต้องพิมพ์อังกฤษ" 3 ชาติอาหรับนำร่องจุดพลุประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ชาวออนไลน์ไม่ต้องใช้อักษรภาษาลาตินใดๆ ในการเข้าเว็บไซต์ ทั้ง ".com", ".net" และอักษรย่อประเทศอย่าง ".eg" แต่สามารถพิมพ์อักขระอาหรับล้วนๆ ลงบนแอดเดรสบาร์ได้เลย ผลจากการอนุมัติของคณะกรรมการกำกับดูแลชื่อโดเมนเนมอย่างไอแคนน์ (Icann) ซึ่งในรายงานระบุว่านี่คือบันไดขั้นแรกที่จะทำให้คนไทยสามารถพิมพ์ชื่อเว็บไซต์เป็นอักษรไทยที่ลงท้ายด้วย ".ไทย" เช่นกัน

อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ 3 ประเทศแรกในโลกที่สามารถใช้รหัสประเทศหรือนามสกุลต่อท้ายชื่อเว็บแอดเดรสเป็นอักขระอาหรับได้ ผลคือเว็บไซต์สัญชาติอียิปต์ไม่จำเป็นต้องจดชื่อโดเมนเนมแล้วลงท้ายด้วยรหัสประเทศ .eg อีกต่อไป แต่สามารถใช้อักษรอาหรับแทนได้เลย เช่นเดียวกับ .sa ของซาอุดิอาระเบียและ .ae ของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทินา ดาม ประธานอาวุโสฝ่ายชื่อโดเมนนานาชาติของไอแคนน์ (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers : Icann) ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไอแคนน์ และไอแคนน์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอักขระภาษาใหม่อีกกว่า 20 ประเทศ เช่น จีน รัสเซีย ทมิฬ และไทย

การเขียนรหัสประเทศในโดเมนเนมที่อยู่เว็บไซต์หรือที่เรียกกันว่า country code top-level domains (CCTLDs) ด้วยอักขระที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษนั้นผ่านการพิจารณาโดยไอแคนน์นานหลายปี โดยที่ผ่านมา การเขียนชื่อเว็บไซต์เป็นอักขระภาษาอื่นนั้นสามารถทำได้ก็จริงแต่ยังต้องลงท้ายนามสกุลด้วย .com หรือ .eg อยู่ แต่ต่อจากนี้ไปคือผู้ใช้จะสามารถใช้อักขระภาษาถิ่นได้อย่างเต็มรูปแบบ แถมเป็นการเขียนจากขวาไปซ้าย ตามลักษณะการเขียนดั้งเดิม

หนึ่งในเว็บไซต์แรกที่ใช้ชื่อโดเมนเนมเป็นภาษาอาหรับเต็มรูปแบบแล้วในขณะนี้คือกระทรวงการสื่อสารของอียิปต์ ซึ่งเปิดใช้ร่วมกับโดเมนภาษาอังกฤษ www.mcit.gov.eg โดยทาเรค คามาล รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารอียิปต์ระบุว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ชื่อโดเมนเนมภาษาอาหรับแก่ 3 บริษัทอียิปต์ที่ยื่นขอจดทะเบียนแล้วในขณะนี้

ที่ผ่านมา อักขระภาษาลาตินนั้นใช้เขียนแสดงที่อยู่เว็บไซต์ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ยุคระบบปิดซึ่งใช้งานเฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยและกองทัพอเมริกันในปี 1969 จนถึงช่วงปี 1990 ที่เริ่มเข้าสู่ระบบเปิด สิ่งที่ทำให้ไอแคนน์มีแนวคิดใช้อักขระภาษาอื่นในชื่อโดเมนเนมคือการเปิดโลกอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้ในท้องถิ่นในวงกว้าง จุดนี้ไอแคนน์เคยระบุว่าในจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งใช้อักขระภาษาอื่นที่ไม่ใช่ละติน การเปลี่ยนแปลงจะทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นผู้ใช้รายใหม่ที่จะทำให้โลกอินเทอร์เน็ตกว้างขึ้น

นอกจากจะเปิดกว้าง บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจขายโดเมนเนมให้กับภาคธุรกิจก็จะได้รับผลดีจากชื่อโดเมนเนมภาษาท้องถิ่นนี้ด้วย โดยเชื่อว่าจะเป็นตัวสร้างรายได้ใหม่เพิ่มจากการจดทะเบียนชื่อตามรหัสประเทศที่เคยมีมา ขณะที่เจ้าของเว็บไซต์ก็จะได้รับประโยชน์จากโดเมนเนมชื่อท้องถิ่นนี้ เพราะจะทำให้ผู้ใช้พบเว็บไซต์ภาษาถิ่นที่ต้องการได้เร็วยิ่งขึ้น

สำหรับกรณีที่ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบางกลุ่มเคยออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้งโดเมนเนมเป็นอักขระภาษาอื่น เนื่องจากหวั่นเกรงว่าหากมีการใช้ชื่อโดเมนเนมเป็นภาษาเฉพาะท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง จะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตแตกออกเป็นกลุ่มย่อยๆเฉพาะในพื้นที่ แทนที่จะใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลและเปิดกว้างให้ชาวโลกติดต่อกันได้ทุกประเทศ จุดนี้ผู้บริหารไอแคนน์เห็นด้วย แต่มองว่าจะเป็นผลดีเพราะประชากรในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษจะสามารถสร้างสังคมอินเทอร์เน็ตของตัวเองได้ ซึ่งถือเป็นการให้ช่องทางการสื่อสารที่จะเป็นประโยชน์มหาศาล

อย่างไรก็ตาม การใช้งานโดเมนภาษาอาหรับยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องอัปเดทซอฟต์แวร์เบราว์เซอร์ในเครื่องก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้ รวมถึงต้องใส่เครื่องหมายในแอดเดรสบาร์และตั้งค่าเครื่องให้รองรับภาษาที่ต้องการด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะต้องมีการพัฒนาที่มากขึ้นอีกในอนาคต

Company Related Link :
Icann


ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

sahasachai@gmail.com

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์