วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

5 ข้อดี/ข้อติใน 'Google TV' จากโซนี

ในที่สุด โซนี (Sony) ก็เปิดตัวชุดทีวี "Google TV" อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน มาในรูปทีวีแอลซีดีความละเอียดสูงที่ผสานคอนเทนต์ออนไลน์เข้ากับโปรแกรมรายการทีวีดั้งเดิมในเครื่องเดียว ใช้ชื่อ Sony Internet TV powered by Google ทำตลาด ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งแม้จะมีรูปลักษณ์และหลักการทำงานคล้ายกับบนสมาร์ทโฟนแต่เป็นคนละเวอร์ชัน ถูกมองว่าจะสามารถเปลี่ยนวิถีการชมทีวีของชาวโลกในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน กำหนดการเริ่มวางจำหน่ายคือวันที่ 16 ตุลาคมนี้

Google TV ของโซนีที่จะประเดิมตลาดประกอบด้วย 4 รุ่นต่างขนาด เริ่มต้นตั้งแต่ชุดทีวีขนาด 24 นิ้ว (ราคา 600 เหรียญสหรัฐ), 32 นิ้ว (ราคา 800 เหรียญ), 40 นิ้ว (ราคา 1,200 เหรียญสหรัฐ) และ 46 นิ้ว (ราคา 1,400 เหรียญ) ทั้งหมดแจ้งเกิดในชื่อซีรียส์ Sony NSX-GT1 โดยเครื่องเล่นแผ่น Blu-ray พร้อมระบบซอฟต์แวร์ Google TV จะวางจำหน่ายในราคา 400 เหรียญสหรัฐ

ทั้งหมดนี้เปิดให้ผู้สนใจสั่งจองสินค้าที่เว็บไซต์ของโซนี ก่อนจะสามารถสัมผัสตัวจริงที่โชว์รูม Sony Style ช่วงปลายสัปดาห์นี้ (16 ตุลาคม 53) และมีคิววางตลาดที่ร้านเบสต์บาย (Best Buy) วันที่ 24 ตุลาคม 53 ส่วนกำหนดการวางจำหน่ายนอกสหรัฐฯยังไม่ปรากฏ

โซนีย้ำว่า โซนี่คือผู้จำหน่ายทีวีความละเอียดสูง (HDTV) รายเดียวที่จะวางจำหน่าย Google HDTV ในปีนี้ ซึ่งอาจจะแปลได้ว่าทีวีความละเอียดสูงจากผู้ผลิตรายอื่นที่จะมาพร้อม Google TV อาจจะวางแผงเพิ่มเติมในปี 2011

Sony Internet TV ทั้ง 4 ขนาดทำงานบนหน่วยประมวลผล ATOM ของอินเทล สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย WiFi มาพร้อมช่องเชื่อมต่อ USB และมีความหนากว่าทีวี HDTV มาตรฐานทั่วไปค่อนข้างมาก มีเทคโนโลยี DLNA ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทุกข้อมูลในเครื่องพีซีได้โดยสะดวก

นอกจากนี้โซนียังติดตั้งซอฟต์แวร์มากกว่า 10 โปรแกรมจากโรงงาน ทั้งแอปพลิเคชัน CNBC, Napster, NBA, Netflix, Pandora, Twitter, YouTube และบริการคอนเทนต์ออนไลน์ของโซนีเองอย่าง Qriocity (อ่านว่าคิวริโอซิตี้) โดยโปรแกรมร้านขายแอปพลิเคชัน Google TV Android Marketplace จะเริ่มสร้างสรรค์เพื่อให้บริการในปีหน้า

ต่อไปนี้คือ 10 คำวิจารณ์ในแง่ดีและแง่ลบของ Google TV จากโซนี ที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

***5 ข้อดีของ Google TV จากโซนี

1. คอนเทนท์ถูกผสานเป็นเนื้อเดียว : สิ่งที่อยู่บนโลกทีวีและอินเทอร์เน็ตจะไม่อยู่คนละบ้านกันอีกต่อไป เนื่องจากเพียงผู้ใช้เริ่มพิมพ์อักษร ระบบ Google TV ก็จะค้นหาข้อมูลทุกชนิดที่เกี่ยวข้องทั้งที่อยู่ในรูปตารางโปรแกรมฉายรายการเคเบิล/แซทเทิลไลท์ทีวี, เว็บไซต์, ไฟล์ภาพวิดีโอที่บันทึกเอง และแอปพลิเคชัน (ไม่แน่ชัดว่าระบบสามารถค้นหาบนบริการออนไลน์เฉพาะทางอื่นๆอย่าง Netflix หรือไม่) รายการที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหาจะปรากฏเป็นรายการเพื่อให้ผู้ใช้เลือกชม ทั้งหมดมีชื่อกูเกิลการันตีคุณภาพความง่ายและถูกต้องในการค้นหา ขณะที่นานาข้อมูลออนไลน์ก็จะรวมกันอยู่บน Home Screen แบบที่ชาวสมาร์ทโฟนคุ้นเคยกันดี

2. เล่นเน็ตขณะดูทีวีได้ : คุณสมบัตินี้เรียกว่า Dual View ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถท่องอินเทอร์เน็ตได้ขณะชมทีวี ทำให้คอบอลที่กำลังชมแม็ตซ์เดือดสามารถออนไลน์เพื่อตรวจสถิติผลแข่งย้อนหลังได้แบบทันใจ หรืออาจจะส่งข้อความทวิตเตอร์ประกาศความรู้สึกเกี่ยวกับรายการทีวีที่ชมอยู่แก่เพื่อนฝูงได้ทันที

3. ท่องเน็ตไกลจอ 8 ฟุต : การท่องเน็ตบน Google TV นั้นได้รับคำชื่นชมอย่างมาก โดยถูกยกย่องว่ามีความลื่นไหลเหมือนการใช้งานบนคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อบ ที่ต่างกันชัดเจนคือขนาดตัวอักษรบน Google TV ที่จะใหญ่เต็มตาจนผู้ใช้สามารถอ่านได้แม้จะอยู่ห่างจากหน้าจอไกลถึง 8 ฟุต

4. รวมอุปกรณ์เป็นหนึ่ง : เพื่อการทำให้ระบบสามารถค้นหาข้อมูลทั่วถึงทั้งระบบ Google TV จึงสามารถรู้ตำแหน่งและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลความละเอียดสูงตระกูล HDMI ตั้งแต่กล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวี แซตเทิลไลท์ทีวี และ DVR ได้เต็มที่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจัดระเบียบการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลายที่เดิมต้องต่อเข้ากับ HDTV จนรุงรัง อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เลือกซื้อเฉพาะเครื่องเล่นบลูเรย์ Sony Internet TV Blu-ray player การเชื่อมต่ออาจจะยุ่งยากกว่าเล็กน้อย เพราะผู้ใช้จะต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์ HDMI และกล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวีเข้ากับ Sony Internet TV Blu-ray ก่อนจะต่อเข้ากับ HDTV ตามปกติ

5. บันเทิงล้วน ไม่มีงานปน : ไม่ต้องห่วงว่าระบบ Google TV จะทำให้คนบ้างานมีโอกาสได้ทำงานในห้องนั่งเล่น เพราะแอปพลิเคชันทั้งหมดในระบบ Google TV ล้วนเป็นแอปพลิเคชันด้านความบันเทิงที่ไม่มีบริการอีเมล แอปพลิเคชันประมวลผลคำ, เอกสารงานคำนวณ รวมถึงแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการงานทั้งหลาย

***5 ข้อติของ Google TV จากโซนี

1. รีโมทคอนโทรล์สุดงง : รีโมททีวีปุ่มกด 3x4 แถวสุดอมตะนั้นคุ้นเคยมือผู้ใช้หลายคนจนสามารถกดได้โดยไม่ต้องมอง แต่รีโมทปุ่มเยอะ (มาก) ของโซนีทำให้ผู้ใช้ต้องก้มลงมองหาปุ่มให้ดี แถมยังไม่สามารถเปลี่ยนช่องหรือปรับระดับเสียงได้โดยใช้มือเดียว

ปุ่มมากมายบนรีโมทคอนโทรล์ของโซนียังถูกฟันธงว่ากดยาก บางเว็บไซต์แนะนำว่าโซนีควรออกแบบรีโมทในลักษณะเดียวกับสมาร์ทโฟนสไลด์ข้าง โดยให้มีรีโมทปุ่มตัวเลขดั้งเดิมอยู่ด้านบน และแป้นคีย์บอร์ด QWERTY สไลด์ข้างจะดีกว่ามาก

2. Dual View เล็กเกินไป : มีเสียงบ่นว่าหน้าจอในโหมด Dual View นั้นให้พื้นที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากภาพรายการทีวีถูกย่อให้มีขนาดเล็กเกินไปที่มุมล่างขวาของจอ

3. Dual View ไม่แสดงอัตโนมัติ : ผู้ที่ได้สัมผัส Google TV ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ Dual View ไม่ทำงานอัตโนมัติทำให้ผู้ใช้เกิดความยุ่งยาก โดยผู้ใช้จะต้องกดปุ่ม Dual View บนรีโมทคอนโทรล์ก่อนจะสั่งให้ระบบแสดงหน้า Home screen เพราะหากเข้าสู่หน้า Home screen แล้ว ผู้ใช้จะไม่สามารถเปิดการทำงาน Dual View ได้ ดังนั้นหากผู้ใช้รายใดลืมกดปุ่มก่อน ก็จะต้องออกจากหน้า Home screen จากนั้นจึงเปิดทีวีเพื่อชมตามปกติ ก่อนจะต้องกดปุ่ม Dual View เพื่อท่องเน็ตขณะชมทีวี

4. ขนาดจอเล็กเกินไป : ในโลกของ HDTV ทีวีความละเอียดสูงมีหน้าจอขนาดใหญ่เกิน 50 นิ้วแล้วหลายรุ่น แต่ชุด Sony Internet TV มีขนาดใหญ่ที่สุดเพียง 46 นิ้ว ซึ่งอาจทำให้ความตื่นเต้นของผู้ชมลดลง

5. ตัวเครื่องหนาเกินไป : Sony Internet TV ถูกจวกว่าเป็นทีวีความละเอียดสูงที่มีตัวเครื่องหนามากเมื่อเทียบกับทีวีกลุ่มเดียวกัน จุดนี้อาจทำให้เสียคะแนนจากกลุ่มนักแต่งบ้านที่เน้นความบางเฉียบ

นอกจากนี้ เสียงวิจารณ์ที่ไม่ใช้ข้อติแต่สร้างความประหลาดใจให้นักสังเกตการณ์คือ การขาดการนำประสบการณ์พีซีพื้นฐานมาติดไว้บนทีวีอินเทอร์เน็ต เช่น กล้องเว็บแคมซึ่งไม่ปรากฏใน Sony Internet TV ทั้งหมดนี้ทำให้หลายคนอาจเลือกที่จะรอดูการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์และความหลายหลากของอุปกรณ์ Google TV ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

sahasachai@gmail.com

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์