วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บลูทูธถอยไป "WiFi Direct"มาแล้ว!!

โลกต้องบันทึกว่าวันจันทร์ที่ 25 ต.ค. 53 คือวันแรกของการเริ่มต้นให้ใบรับรองมาตรฐานเทคโนโลยี "ไว-ไฟ ไดเรกต์ (WiFi Direct)" แก่ผู้ผลิตอุปกรณ์พกพา เทคโนโลยีไว-ไฟไดเรกต์นี้เองที่หลายคนคาดหวังว่าจะทำให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ดิจิตอลระหว่างกันในอนาคตเกิดขึ้นได้ง่ายดายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฟันธงอีกไม่นาน โลกจะเข้าสู่กาลอวสานของเทคโนโลยีบลูทูธ ซึ่งผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกนิยมใช้ส่งไฟล์ข้อมูลหรือภาพระหว่างกันในขณะนี้

ไว-ไฟไดเรกต์เป็นเทคโนโลยีที่กลุ่มพันธมิตรไว-ไฟ (WiFi Alliance) พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีไว-ไฟดั้งเดิมเพื่อให้อุปกรณ์พกพาสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ไร้รอยต่อ และปลอดภัย ทั้งหมดนี้ทำให้ไว-ไฟไดเร็กต์ถูกตั้งชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตบลูทูธ เพราะไว-ไฟไดเรกต์สามารถทำงานแทนบลูทูธได้ทุกประการ แถมยังสามารถรองรับแอปพลิเคชันและประสิทธิภาพที่เหนือกว่า

รายงานระบุว่า หลังจากการให้ใบรับรองแก่ผู้ผลิต เชื่อว่าอุปกรณ์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีไว-ไฟไดเรกต์จะวางจำหน่ายได้ภายในปลายปี 2010 นี้

แม้ไว-ไฟไดเรกต์จะสร้างบนไว-ไฟดั้งเดิม แต่ไว-ไฟไดเรกต์กลับต้องการปัจจัยแวดล้อมในการทำงานต่างกัน ประการแรกคือไว-ไฟไดเรกต์ไม่ต้องการเครือข่ายหรือระบบกระจายสัญญาณไว-ไฟ เนื่องจากไว-ไฟไดเร็กต์จะทำให้อุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบเครื่องต่อเครื่อง (peer-to-peer) ขณะเดียวกันจะทำให้ขั้นตอนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กผ่านสมาร์ทโฟน ทำได้ง่ายกว่ากระบวนการเชื่อมต่อปัจจุบันที่เรียกว่า adhoc เนื่องจากไว-ไฟไดเรกต์สามารถค้นหาอุปกรณ์อื่นในบริเวณรอบข้างโดยไม่ต้องเข้าร่วมเครือข่ายกัน แถมระบบยังสามารถแจ้งได้ว่าเครื่องปลายทางสามารถรับบริการใดได้บ้าง

จุดขายสำคัญของไว-ไฟไดเรกต์คือความเร็วในการส่งข้อมูลสูงสุด 54Mbps ทำให้ผู้ใช้สามารถส่งไฟล์ภาพความละเอียดสูงไปยังเครื่องพิมพ์ หรือส่งไฟล์วิดีโอแบบ HD จากโทรศัพท์ไปยังเครื่องเพื่อนข้างเคียงได้อย่างลื่นไหล ที่สำคัญ ไว-ไฟไดเรกต์ยังมีรัศมีการทำงานที่ครอบคลุมกว้างกว่า มีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส WPA2 (Wi-Fi Protected Access 2) สามารถจับคู่ได้มากกว่าหนึ่งอุปกรณ์ ทำให้ผู้ใช้สามารถจับคู่อุปกรณ์ที่สนับสนุน Wi-Fi Direct กับอุปกรณ์ต่างๆ ได้หลายชิ้นพร้อมกัน

ในมุมของผู้บริโภค คาดว่าไว-ไฟไดเรกต์จะถูกใช้ในการแบ่งปันภาพและข้อมูลอื่นๆ ระหว่างเพื่อนและครอบครัว ทั้งข้อมูลขนาดใหญ่ ภาพถ่ายความละเอียดสูง หรือวิดีโอไฮเดฟจากกล้องดิจิตอล อุปกรณ์ด้านความบันเทิง และเครื่องพีซีในบ้าน ภาพจากอุปกรณ์พกพาเหล่านี้จะสามารถส่งไปแสดงยังจอคอมพิวเตอร์หรือทีวีในบ้านได้ รวมถึงการแสดงผลระบบสนทนาผ่านวิดีโอ การเล่นวิดีโอเกมส์ และการสนทนาผ่านระบบ IM

การเชื่อมต่อที่สะดวกขึ้นยังทำประโยชน์แก่องค์กรธุรกิจด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการทำงานนอกสถานที่ ขณะเดียวกันการเข้ารหัส WPA2 ก็ทำให้ผู้ใช้สามารถป้องกันไม่ให้มีการขโมยข้อมูลได้อย่างรัดกุม โดยก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยในไว-ไฟไดเร็กต์ เนื่องจากบลูทูธถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นช่องทางชั้นเยี่ยมให้เหล่านักเจาะระบบขโมยข้อมูลส่วนตัว ไว-ไฟไดเรกต์จึงถูกพัฒนาให้ทำงานบนเทคโนโลยี WPA2 และการเข้ารหัสข้อมูล AES ซึ่งจะทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถจัดการการเชื่อมต่อและตรวจสอบได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เบื้องต้น รายงานระบุว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในท้องตลาดปัจจุบันที่รองรับมาตรฐาน WiFi 802.11x จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไว-ไฟไดเรกต์ทั้งสิ้น เท่ากับผู้ที่ซื้อเครื่องพิมพ์มาตรฐานไว-ไฟไดเรกต์ในช่วงปลายปีนี้ จะสามารถเชื่อมต่อกับพีซีเครื่องดังกล่าวได้แบบทันใจ

เหนืออื่นใด กลุ่มพันธมิตรไว-ไฟนั้นมีสมาชิกเป็นบริษัทไอทีรายใหญ่อย่างซิสโก้ และอินเทล การเกิดขึ้นของไว-ไฟไดเรกต์จึงถูกมองว่าจะมีบทบาทกับอุตสาหกรรมไฮเทคทั่วโลก ทำให้มีโอกาสสูงที่บลูทูธ ซึ่งเคยเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการส่งไฟล์หรือข้อมูลอื่นๆ ระหว่างอุปกรณ์มาตลอด จะถูกลืมเลือนไปโดยมีไว-ไฟไดเรกต์มาแทนที่ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอุปกรณ์ไฮเทคครั้งใหญ่อีกครั้ง

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

sahasachai@gmail.com

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์